ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อันเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบให้ภาคเศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง ในขณะที่สถานการณ์ล่าสุดของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 14 ได้ก่อผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะมาตรการคว่ำบาตร ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ราคาพลังงานและทองคำมีความผันผวนอย่างหนัก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีราคาปรับสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบไปถึงต้นทุนต่างๆ ที่ต้องขยับตาม ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ราคาสินค้าต่างๆ แพงขึ้น ซึ่งแน่นอนในส่วนของประเทศไทยนั้นเมื่อข้าวของแพง ทำให้ดัชนีเงินเฟ้อปรับตัว วิธีที่จะลดผลกระทบ คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะฉุดให้กำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอีกครั้ง
ห่วงวิกฤตยูเครนเร่งน้ำมันแพง ดันดอกเบี้ยขาขึ้น
นางสุพินท์ มีชูชีพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตอบคำถามกับผู้สื่อข่าวในประเด็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะเกิดขึ้นกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยว่า ผลกระทบโดยตรงต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยอาจมีไม่มาก แต่จะเป็นผลกระทบทางอ้อมมากกว่า ซึ่งภาพที่เราเห็นในตอนนี้และต่อไปคือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกำลังซื้อ (ดีมานด์) ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการเกิดภาวะเงินเฟ้อที่บั่นทอนกำลังการใช้จ่ายของประชากร และอาจมีแนวโน้มจะนำไปสู่การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
“หากสงครามยืดเยื้อ มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีนักลงทุนหรือผู้มีฐานะบางส่วนที่ผันเม็ดเงินเข้ามาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากโดยทั่วไปอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพและทำเลดี เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีการขึ้นของราคาในระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในสภาพตลาดปัจจุบันที่มีสินทรัพย์ดีที่เสนอขายในตลาดในราคาที่ไม่แพง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากโรคระบาดเริ่มดีขึ้น ประกอบกับรัฐบาลพยายามเปิดประเทศมากขึ้นเพื่อกระตุ้นภาคท่องเที่ยว แต่แนวโน้มที่ตัวเลขจะกลับไปยืนอยู่ก่อนเกิดโควิด-19 นั้นคงจะยาก คาดต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี หรือจะเห็นภาพอีกทีก็ปี 2567” นายสุพินท์ กล่าว (อนึ่ง ตามข้อมูลราคาอสังหาฯ เฉลี่ยจะปรับขึ้นประมาณ 5-10% ต่อปี แล้วแต่ทำเล)
มองภาษีที่ดินอาจทำให้ที่ดินออกสู่ตลาดมากขึ้น
สำหรับการลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ นั้น นางสุพินท์ ฉายภาพว่าลดลงไปมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากปริมาณการซื้อขายที่ดินที่ลดลงด้วยเช่นกัน เริ่มจากในช่วงระหว่างปี 2558 ถึง 2561 การซื้อขายที่ดินในประเทศไทยมีความคึกคักร้อนแรงมากเป็นพิเศษ มีมูลค่าเฉลี่ยมากกว่า 44,000 ล้านบาทต่อปี และเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวลดลง โดยในปี 2562 มูลค่าซื้อขายที่ดินเริ่มดิ่งลงเหลือ 15,000 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งคือ ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมชะลอการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ สถานการณ์โควิดทำให้การซื้อขายที่ดินมีมูลค่าลดน้อยลงไปอีก สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่ลดน้อยลงด้วย ส่งผลให้ในปี ปี 2563 มีมูลค่าการซื้อที่ดินรวมลดลงมาเหลือประมาณ 5,800 ล้านบาท และในปี 2564 ที่ผ่านมา ลดเหลือเพียงประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งเราประเมินว่า มูลค่าการซื้อขายที่ดินไปถึง 10,000 ล้านบาท คงต้องใช้เวลา
“มูลค่าการซื้อขายที่ดินที่ลดลงมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการชะลอตัวของภาคธุรกิจการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ กิจกรรมการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ มีการชะลอตัวลง ด้วยหลายเหตุผล ซึ่งไม่ใช่เพียงผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โรคระบาด แต่ยังรวมถึงปัญหาด้านอื่นๆ เช่น ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป กำลังซื้อที่ชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาโอเวอร์ซัปพลาย โดยมีสถานการณ์โรคระบาดเป็นตัวเร่ง”
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้จะมีสถานการณ์เรื่องโควิด-19 แต่ราคาที่ดินกลับไม่ได้ลดลงเลย แต่คิดว่า ผลกระทบจากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้คนต้องการขายที่ดินออกมา ฉะนั้น จะมีสต๊อกของที่ดินที่ต้องการจะขาย หรือต้องการออกมาเพื่อพัฒนามากขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการเห็นโอกาสในการพัฒนา มั่นใจในทำเล และราคาที่สามารถทำสินค้าแล้วขายได้จะตัดสินใจลงทุนและพัฒนาโครงการ ซึ่งรอบการพัฒนาโครงการจะสั้นลงเหลือประมาณ 2-3 ปี
ยุคทองของโครงการแนวราบ มาร์เกตแชร์เกินกว่าครึ่ง
สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมนั้น เป็นตลาดที่มีความท้าทายจากภาวะโอเวอร์ซัปพลายเป็นทุนเดิม แต่การเกิดโรคระบาดเป็นปัจจัยเสริมที่เพิ่มความท้าทายให้ตลาดมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ๆ ปรับลดจำนวนลงไปมาก เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นเร่งระบายยูนิตในโครงการเหลือขายมากกว่าที่จะวางแผนพัฒนาโครงการใหม่ในขณะนี้ และหันไปลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของโครงการแนวราบเพิ่มเป็น 2 ใน 3 ของตลาด
ตลาดสำนักงานเจอแรงกดดันพื้นที่ว่างเพิ่มขึ้นกว่า 15%
นางสุพินท์ ยังได้กล่าวถึงภาพรวมของตลาดอาคารสำนักงานว่า เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยหากรีวิวไปก่อนเกิดโควิด-19 อาคารสำนักงานเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ดาวรุ่ง เนื่องจากมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของบริษัทผู้เช่า โดยเฉพาะอาคารใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ มีการเปิดโครงการขนาดใหญ่ (มิกซ์ยูส) บนทำเลใจกลางธุรกิจ เช่น โครงการ วัน แบงค็อก โครงการ Dusit Central Park
โดยที่เราเคยมีการคาดการณ์ไว้ว่า ตลาดอาคารสำนักงานของกรุงเทพฯ จะยังคงแข็งแกร่งในแง่ของค่าเช่า แม้จะมีอาคารสำนักงานใหม่จ่อคิวสร้างเสร็จเพิ่มขึ้น แต่โดยภาพรวมในขณะนี้ความต้องการเช่าใช้พื้นที่ของบริษัทต่างๆ ชะลอตัวจากวิกฤตการณ์โรคระบาด ในขณะที่มีโครงการสร้างเสร็จใหม่เพิ่มขึ้น ตลาดอาคารสำนักงานของกรุงเทพฯ จึงกำลังพบกับความท้าทายเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีอาคารสำนักงานใหม่สร้างเสร็จ (Supply) เพิ่มขึ้นมาก โดยในปี 2563 มีสำนักงานสร้างเสร็จเกือบ 3 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) และในปีที่ผ่านมา สร้างเสร็จเพิ่มอีกประมาณ 470,000 ตร.ม. ขณะที่ในปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีพื้นที่สำนักงานรวมเกือบ 10 ล้าน ตร.ม.
ในฟากของความต้องการใช้พื้นที่ (Demand) นั้น ช่วง 5 ปีก่อนเกิดโควิดในไทย (2557-2562) กรุงเทพฯ มียอดการเช่าพื้นที่เพิ่มสุทธิเฉลี่ยราว 145,000 ตร.ม.ต่อปี แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของการเช่าพื้นที่ กล่าวคือ ในปี 2563 การเช่าพื้นที่เพิ่มสุทธิมียอดรวมลดลงเหลือประมาณ 122,000 ตร.ม. และในปี 64 มียอดรวมลดลงไปอีกเหลือเพียงประมาณ 70,000 ตร.ม.
ผลที่ตามทำให้พื้นที่ว่างเหลือเช่าเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากซัปพลายที่เพิ่มขึ้น (อาคารสำนักงาน) ขณะที่ดีมานด์ชะลอตัว ส่งผลให้ในปี 64 อัตราพื้นที่ว่างขยับขึ้นไปอยู่ที่เกือบ 15% และเมื่อย้อนหลังไปเทียบกับ 6 ปีที่ผ่านมา อัตราการว่างเฉลี่ยไม่ถึง 10%
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 54 จนถึงปี 63 ค่าเช่าขยับตัวสูงขึ้นค่อนข้างต่อเนื่อง แต่พื้นที่ว่างเหลือเช่าที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเช่าปรับตัวลดลง โดยในปี 64 ค่าเช่าเฉลี่ยสำหรับอาคารทั้งหมด ไม่แบ่งเกรด ปรับลดลงจากปี 63 ประมาณ 1.3% ปัจจุบันอยู่ที่ 618 บาทต่อ ตร.ม. แต่หากโฟกัสที่อาคารเกรดเอ ค่าเช่าเฉลี่ยปรับลดลงประมาณ 2.8% ปัจจุบันอยู่ที่ 908 บาทต่อ ตร.ม.
“มองไปข้างหน้าจนถึงปี 2569 หรืออีก 5 ปีจากนี้จะมีอาคารสำนักงานใหม่สร้างเสร็จเพิ่มอีก 2.2 ล้าน ตร.ม.หรือเฉลี่ย 440,000 ตร.ม.ต่อปี แม้ภาคธุรกิจอีคอมเมอร์ศจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงโควิด แต่การเติบโตของภาคธุรกิจอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงชะลอตัว ดังนั้น ยังไม่มีแนวโน้มว่าความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงาน จะขยายตัวได้ทันรองรับซัปพลายใหม่”
หมายความว่า จะมีพื้นที่ว่างเหลือเช่าสูงขึ้นต่อไปอีก และค่าเช่าจะปรับลดลง อาคารเก่าที่ขาดการปรับปรุงดูแล ล้าสมัย หรือเสื่อมสภาพจะได้รับผลกระทบมากสุด บริษัทผู้เช่ามีแนวโน้มสนใจอาคารที่ใหม่กว่า ที่มีการออกแบบพื้นที่ดีกว่า มีเทคโนโลยีใหม่กว่า และตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัย รวมถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า อาคารเก่าหลายอาคารยังมีข้อได้เปรียบจากการมีทำเลที่ดี หรือใกล้กับ BTS หรือ MRT แต่อาคารเก่าเหล่านี้จำเป็นต้องปรับปรุงอาคารเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสอดรับกับความต้องการของผู้เช่าที่ปรับเปลี่ยนไป
แนะอสังหาฯ ไทยร่วมทุนต่างชาติ เปิดโอกาสธุรกิจโลจิสติกส์
นายสุพินท์ กล่าวถึงโอกาสของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ว่า แม้อสังหาริมทรัพย์กลุ่มหลักๆ จะอยู่ในภาวะอิ่มตัว และมีโอกาสน้อยลงสำหรับการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ แต่โอกาสการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทยยังไม่ถึงทางตันโดยสิ้นเชิง เพราะยังมีอสังหาริมทรัพย์นอกกลุ่มหลักที่มีโอกาสเติบโต เช่น อสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มโลจิสติกส์ และดาต้าเซ็นเตอร์
ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์กลุ่มโลจิสติกส์ ได้แก่ โกดัง หรือศูนย์การจายสินค้า มีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่ครองตลาดอยู่ในขณะนี้ และยากที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นเจาะช่องเข้ามาได้ยาก เพราะอาจไม่มีประสบการณ์และฐานลูกค้า แต่โอกาสยังมี เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โลจิสติกส์และมีฐานลูกค้าในมือสนใจขยายการลงทุนเข้ามาในไทย โดยวิธีร่วมลงทุนกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่มีความสามารถในการเข้าถึงที่ดินที่มีความเหมาะสม มีความรู้และทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาโครงการ
ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ประเภทดาต้าเซ็นเตอร์ กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ ผู้ให้บริการด้าเซ็นเตอร์มีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจบริการด้านนี้ แต่ไม่มีทรัพยากรและประสบการณ์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงมีโอกาสมากที่จะร่วมลงทุนกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ห่วงราคาสินค้า-พลังงานพุ่ง บั่นทอนกำลังซื้อ
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาสต่อจากนี้คาดว่าจะยังคงทรงตัว ไม่คึกคักมากนัก เนื่องจากตลาดยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด ที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้าลงกว่าที่คาดไว้
ขณะที่ราคาสินค้าและพลังงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคลดลง และเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายขึ้น โดยเฉพาะกับสินค้าที่มีภาระผูกพันยาวนานอย่างอสังหาริมทรัพย์
โดยทางดีดี พร็อพเพอร์ตี้ มองว่ามีปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ 1.มาตรการรัฐ เช่น การขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือรายการละ 0.01% ออกไปจนถึงสิ้นปี 65 รวมถึงมาตรการผ่อนคลายมาตรการ LTV ทำให้ผู้ซื้อบ้านกู้ได้เต็ม 100% แม้จะยังไม่เห็นสัญญาณบวกจากมาตรการมากนัก แต่คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญในปี 2565
2.ปัจจัยการเมืองภายในประเทศ รวมถึงกระแสการเลือกตั้งใหม่ หากมีความชัดเจนขึ้น ตลาดจะตกอยู่ในสถานการณ์ “ชะลอการตัดสินใจ” ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย
3.ปัจจัยความขัดแย้งในต่างประเทศ (รัสเซีย-ยูเครน) หากยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยไทยจะได้รับผลกระทบ 2 ด้าน คือ การส่งออกลดลง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่จะลดลงด้วย
ส่องดัชนีราคาที่อยู่อาศัยแนวสูงร่วง-แนวราบยังสดใส
นางกมลภัทร กล่าวถึงแนวโน้มของดัชนีราคา ซัปพลาย และดีมานด์ของที่อยู่อาศัยในรอบ 4 ปีทั่วประเทศเทียบกับกรุงเทพฯ ว่า หากพิจารณาเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 70% จะพบว่า ดัชนีราคาในช่วงไตรมาส 4 ปี 64 ลดต่ำลงมากเมื่อไปกับไตรมาสเดียวกันของปี 61 ซัปพลายกลับมีจำนวนที่มากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี ดีมานด์ (Demand Index) เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 64
ทั้งนี้ หากมองในกลุ่มโปรดักต์ คอนโดมิเนียม ดัชนีราคายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า Baseline นับตั้งแต่เข้าสู่ช่วงโควิด-19 ราคาคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ตกลงมากกว่าดัชนีราคาคอนโดฯ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ขณะที่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัย-บ้านเดี่ยวมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องมาตลอด 4 ปี โดยเฉพาะราคาบ้านเดี่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับดัชนีราคาบ้านเดี่ยวทั่วประเทศ โดยพบว่า บ้านเดี่ยวราคาสูงขึ้น (yoy) ราว 6-13% ส่วนตลาดทาวน์เฮาส์แม้จะไม่หวือหวาเท่าดัชนีราคาบ้านเดี่ยว แต่ดัชนีราคาทาวน์เฮาส์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ราคาทาวน์ เฮาส์นอกกรุงเทพฯ มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่าในกรุงเทพฯ
“หากมองถึงเรื่องดัชนีซัปพลายของที่อยู่อาศัยแล้วมีแนวโน้มปรับตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา จากอัตราดูดซับในตลาดที่ลดลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากพิษโควิด-19 ซึ่งจะเห็นได้ว่าดัชนีซัปพลายในกรุงเทพฯ บวกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 (yoy)”
สำหรับตลาดเช่านั้น จากการวิจัยและสำรวจของดีดี พร็อพเพอร์ตี้ พบว่า ซัปพลายห้องเช่าน้อยลงซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะมีดีมานด์ในการมองหาที่เช่าอยู่ ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มนักเรียนจากต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาในประเทศไทย ชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย โดยระดับค่าเช่าบ้านและคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ได้รับความสนใจสูงสุดในรอบ 6 เดือน พบว่า ห้องชุดและบ้านเดี่ยวราคาค่าเช่าไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน มีสัดส่วนที่มาก แต่มีข้อสังเกตว่า ราคาค่าเช่าที่เกินกว่า 20,000 บาทจนไปถึง 30,000 บาทต่อเดือนมีสัดส่วนที่เติบโต และเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการผ่อนที่สูงเช่นกัน
นางสุพินท์ มีชูชีพ กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัล พร็อพเพอร์ตี้ กูรู ไทยแลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ อวอร์ดส์ กล่าวว่า ได้เตรียมจัดงานยิ่งใหญ่ PropertyGuru Thailand Property Awards ครั้งที่ 17 ซึ่งเป็นภารกิจเฟ้นหาโครงการเด่นแห่งปี 2565 พร้อมประกาศสาขาใหม่ โครงการอสังหาฯแบบ Waterfront โครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และโครงการเป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง หวังสร้างความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและกำลังซื้อกลับมาคึกคักรับสัญญาณบวกของการฟื้นตัวในปีนี้ โดยเปิดรับการเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัล ตั้งแต่วันนี้ถึง 9 ก.ย.65 และประกาศผลในวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 นี้
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket