สุนันท์ ศรีจันทรา
นับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์รอบ 47 ปี มีหุ้นที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงนับร้อยตัว แต่ไม่เคยมีหุ้นตัวใดร้อนแรงสุดขีดเท่ากับหุ้น บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS

เพราะภายในเวลา 1 ปี 3 เดือนเศษๆ JTS พุ่งทะยานม้วนเดียว จากราคาปิดที่ 1.93 บาท เมื่อสิ้นปี 2563 ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ราคาปิดที่ 398 บาท เพิ่มขึ้น 396.07 บาท หรือเพิ่มขึ้น 20,621%

ปี 2564 ผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นอยู่ที่ 14.37% แต่มีหุ้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิน 100% อยู่ทั้งหมดจำนวน 152 บาท และมี 4 บริษัทที่ราคาปรับตัวขึ้นเกิน 1,000%

JTS เป็นหัวโจกหุ้นที่วิ่งแรงที่สุด จากราคา 1.93 บาท เมื่อสิ้นปี 2563 ขยับขึ้นมาปิดที่ 131 บาท ในสิ้นปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 129.07 บาท หรือเพิ่มขึ้น 6,688%

รองลงมาคือหุ้น บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD จากราคาปิด 0.63 บาท ขยับขึ้นมาปิดที่ 19.4 บาท เพิ่มขึ้น 18.41 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2,979% หุ้น บริษัท พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PSG จากราคาปิด 4 สตางค์ ขึ้นมาปิดที่ 58 สตางค์ เพิ่มขึ้น 54 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 1,350%

และหุ้นบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY จากราคาปิด 1.81 บาท ขึ้นมาปิดที่ 24.70 บาท เพิ่มขึ้น 22.26 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1,265%

ย่างเข้าสู่ปี 2565 หุ้นร้อนส่วนใหญ่สงบลงแล้ว หลายตัวปักหัวลง รวมทั้งหุ้น BYD หุ้น PSG และหุ้น SABUY แต่ JTS ยังลากกันสนุกสนานต่อไป แม้จะมีเสียงเตือนจากโบรกเกอร์แทบทุกสำนักให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุน

จุดขายหรือปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นของ JTS มีเพียงประการเดียวคือ การประกาศตั้งเหมืองขุดบิตคอยน์ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2567 จะมีเครื่องขุดบิตคอยน์ 50,000 เครื่อง และมีกำลังขุดประมาณ 5% ของการขุดบิตคอยน์ทั้งโลก

บริษัทจดทะเบียนประมาณ 10 แห่ง ประกาศตั้งเหมืองขุดบิตคอยน์ และแม้จะปลุกการเก็งกำไรหุ้นได้ แต่ปั่นกระแสการเก็งกำไรในระยะสั้นเท่านั้น โดยหุ้นที่ขายฝันตั้งเหมืองขุดบิตคอยน์ ปัจจุบันนักลงทุนเทขายหุ้นทิ้ง จนราคาหุ้นกลับบ้านเก่ากันแทบหมดแล้ว

เหลือเพียง JTS เท่านั้นที่ลากกันไม่เลิก แม้จะเป็นหุ้นที่ถูกตลาดหลักทรัพย์เฝ้าจับตาเป็นพิเศษ และประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายถึง 11 ครั้ง นับจากต้นปี 2564 โดยอยู่ในข่ายจะเป็นหุ้นตัวแรกที่ถูกพักการซื้อขายหุ้น 1 วัน ซึ่งเป็นมาตรการกำกับการซื้อขายเข้มที่สุดที่ประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา

ค่าพี/อี เรโชของ JTS ทะลุ 1,272 เท่าไปแล้ว ซึ่งสูงมาก เพราะหมายถึงนักลงทุนที่ซื้อหุ้นตัวนี้ จะต้องรอถึง 1,272 ปี ผลกำไรของบริษัทจึงจะคุ้มเงินลงทุน

ความเคลื่อนไหวของ JTS ล่าสุดคือ เมื่อปลายเดือนมีนาคม ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี โดยขายเฉพาะนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ข่าวออกหุ้นกู้ไม่ได้มีนัยสำคัญในการผลักดันราคาหุ้น โดยจุดขายของ JTS อยู่ที่ประเด็นการตั้งเหมืองขุดบิตคอยน์เพียงประการเดียว

แต่ใครล่ะที่ซื้อหุ้น JTS โดยหวังว่าบริษัทจะร่ำรวยจะการขุดบิตคอยน์ และใครล่ะที่ไล่ราคาหุ้น ทั้งที่ค่าพี/อี เรโชทะลุ 1,272 เท่าไปแล้ว

นักลงทุนทั่วไปกล้าหรือที่จะเล่นกับ JTS

ราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นกว่า 20,000% จาก 1.93 บาท ขึ้นมาเกือบทะลุ 400 บาท ภายในเวลา 15 เดือน อาจเป็นความมหัศจรรย์

แต่อีกมุมหนึ่งอาจทำให้ JTS เป็นหุ้นแปลกประหลาด และจนบัดนี้ตลาดหลักทรัพย์ยังจับคนที่อยู่เบื้องหลังการลากหุ้นตัวนี้ไม่ได้

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket