การท่องเที่ยวไทยที่เคยพีกสุดในช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน ทำให้ประเทศไทยมีรายได้เข้าประเทศพุ่งถึง 2.2 ล้านล้านบาท ได้กลายเป็นแม่เหล็กใหญ่ที่ดึงให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม รวมถึงนักลงทุนต่างชาติมีการลงทุนเปิดโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเซกเมนต์ของตลาดโรงแรมระดับลักชัวรีเป็นอีกตลาดก่อนช่วงเกิดโควิดที่ “เติบโต” อย่างมาก

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย ได้ฉายภาพรวมตลาดโรงแรมระดับลักชัวรีในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ สิ้นครึ่งหลังปี พ.ศ.2564 และสถานการณ์ในปี พ.ศ.2565 ว่า ภาพรวมอุปทานโรงแรมระดับลักชัวรีในกรุงเทพฯ ณ สิ้นครึ่งหลังปี พ.ศ.2564 ยังคงอยู่ที่ประมาณ 12,943 ห้องพัก ไม่พบว่ามีโรงแรมระดับลักชัวรีเปิดบริการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯในปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา

โรงแรมที่เปิดบริการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเพียงแค่โรงแรมระดับอัปสเกลและมิดสเกลเท่านั้น ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวน 7 โรงแรม รวมทั้งสิ้น 1,193 ห้องพัก คือ โรงแรม วินแดม แบงค์กอก ควีน คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 110 ห้องพัก โรงแรมวินแดม การ์เด้น แบงค์กอก สุขุมวิท 42 ประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 135 ห้องพัก (ทั้ง 2 โครงการเป็นการร่วมทุนระหว่าง บมจ.ไซมิส แอสเสท จำกัด บริษัทก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กับบริษัทบริหารจัดการโรงแรมชั้นนำจากสหราชอาณาจักรคิว กรีน โฮเทลส์)

โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ เพลินจิต (ของกลุ่มโรงแรมเออร์เบิน ฮอสพิทาลิตี้) ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 160 ห้องพัก โรงแรมโกลว์ สุขุมวิท 71 ประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 108 ห้องพัก โรงแรมโรงแรมชามา เย็นอากาศ กรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 136 ห้องพัก โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพฯ รัชดา 71 ประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 220 ห้องพัก และโรงแรมแจล ซิตี้ กรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 324 ห้องพัก

ซึ่งฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่า มีโรงแรมในกรุงเทพฯ อีกหลายแห่งที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากการประกาศเปิดประเทศอีกครั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ที่จะให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เน้นเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้ามาทางอากาศเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งผ่อนปรนมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของในประเทศอีกหลายพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น

 

นอกจากนี้ พบว่า โรงแรมระดับระดับลักชัวรีในกรุงเทพฯ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้ง 4 โครงการ ประมาณ 726 ห้องพัก ที่มีแผนจะเปิดบริการในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา เลื่อนการเปิดตัวออกไป และพบว่า มีอุปทานโรงแรมระดับระดับลักชัวรีในกรุงเทพฯ ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการในปี พ.ศ.2565 อีกประมาณ 155 ห้องพัก และในปี พ.ศ.2566 อีกประมาณ 2,354 ห้องพัก (รวมทั้งปี 65 และ 66 จะมีห้องพักเข้าสู่ตลาดเพิ่มอีกประมาณ 2,509 ห้อง) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการโรงแรมระดับลักชัวรีไม่สามารถพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติได้ โดยโรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราว ถึงแม้ว่าจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการในช่วงที่ผ่านมา หรือบางโรงแรมประกาศปิดกิจการถาวรและมีการประกาศขายโรงแรม หรือมีการปรับตัวในรูปแบบอื่นๆ เช่น ให้เช่าห้องเพื่อเป็นสถานกักตัวของรัฐ หรือปล่อยเช่ารายเดือน

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวดีขึ้นจากในช่วงครึ่งแรกของปี จากการประกาศเปิดประเทศอีกครั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ซึ่งพบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 387,422 คน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในช่วงครึ่งแรกกว่าร้อยละ 89.5 ส่งผลให้ภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ. ฃ2564 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 427,869 คน ปรับตัวลดลงจากในปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 93.6 สร้างรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 24,974 ล้านบาท ซึ่งพบว่าจำนวนตัวเลขที่เกิดขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก ซึ่งจากเดิมคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีที่ผ่านมาไว้ที่ประมาณ 10 ล้านคน

 

แต่ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย มองว่า หลังจากปัจจัยบวกในเรื่องของการประกาศเปิดประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในประเทศไทย ซึ่งเราพบว่าเฉพาะในเดือนธันวาคมมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 230,497 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่สูงที่สุดในปีที่ผ่านมา โดยพบว่าเป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรปมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 58.6

ผู้ประกอบการโรงแรมหั่นราคาห้องพัก-อาหารลงกว่าร้อยละ 50

อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับลักชัวรีในกรุงเทพฯ ณ ครึ่งหลังของปี พ.ศ.2564 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 22.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากอัตราเข้าพักเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งตลาดยังคงพึ่งพิงนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก ผ่านแคมเปญท่องเที่ยวภายใต้ชื่อ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ และนักท่องเที่ยวที่ให้ความสนใจ เนื่องจากปรับลดราคาห้องพักและค่าบริการอื่นๆ ลงกว่าร้อยละ 50.0 นอกจากนี้ ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ผ่านโครงการ Test & Go ในรูปแบบไม่ต้องกักตัว รวมถึงโครงการ Sandbox และโครงการ Alternative Quarantine ส่งผลให้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ความต้องการห้องพักโรงแรมระดับลักชัวรีในกรุงเทพฯ ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง

ณ สิ้นครึ่งหลังของปี พ.ศ.2564 ราคาเฉลี่ยห้องพักรายวัน (ADR) ของโรงแรมระดับลักชัวรีในกรุงเทพฯ ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมมาอยู่ที่ประมาณ 3,210 บาท ปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 1.7 จากในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งเป็นผลกระทบจากการมอบส่วนลดให้แก่ลูกค้าภายในประเทศ เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง แม้ว่าแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเราพบว่าผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมบางรายปรับลดราคาห้องพัก-อาหารลงกว่าร้อยละ 50.0 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมจะมีรายได้ที่ปรับตัวลดลงจากการปิดให้บริการของโรงแรม เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการปิดประเทศ ทำให้รายได้หลักที่มาจากการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ขาดหายไป แต่จากมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลที่ยังมีความยืดหยุ่น ทำให้ร้านอาหารยังสามารถเปิดให้บริการในแบบซื้อกลับไปกินที่บ้านได้ หรือผ่านฟูดเดลิเวอรี ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมหลายรายจึงหันมาปรับตัวด้วยการบริการด้านอาหารให้ลูกค้าแบบเดลิเวอรี เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้อีกช่องทางในภาวะที่อัตราการเข้าพักตกต่ำ และภาพของการกลับมาเปิดบริการอีกครั้งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีขึ้นของตลาด

ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ภาพรวมตลาดโรงแรมระดับลักชัวรีในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2565 ว่า ตลาดจะยังคงพึ่งพิงนักท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก แต่คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในปีนี้

 

สำหรับอุปทานเปิดใหม่ (ซัปพลาย) อาจกลับมาเปิดตัวอีกครั้งในปีนี้ แบรนด์โรงแรมระดับโลกที่ยังคงประกาศแผนการเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย ในส่วนของอัตราการเข้าพักเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งเช่นเดียวกัน จากความต้องการห้องพักโรงแรมระดับลักชัวรีที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่ค่าห้องพักรายวันเฉลี่ยและรายได้ต่อห้องยังคงไม่สามารถปรับตัวได้มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมยังต้องเผชิญกับปัจจัยต่างๆ ทั้งในเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังคงพบตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง รวมถึงจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่สามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างปกติ ซึ่งคาดการณ์ว่า การกลับมาใช้มาตรการเปิดประเทศแบบ Test & Go อีกครั้งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่จะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นในปี พ.ศ.2565

“ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ทิศทางกลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวในปี พ.ศ.2565 เรามองว่าจากการคาดการณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คือการสร้างรายได้รวม 1.28 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 656,000 ล้านบาท (160 ล้านคน/ครั้ง) ตลาดต่างประเทศ 625,800 ล้านบาท (10 ล้านคน) ดันยอดรายจ่ายเฉลี่ยต่อคน 4,100 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ และ 62,580 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปีผ่านดำเนินการในแคมเปญ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters นี้ เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในปีนี้เป็นอย่างยิ่ง หากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าวันละ 10,000 ราย”

Amazing New Chapters

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นั้น ได้มีการเปิดแผนและกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในปี 2565 กับแนวทาง “ปีท่องเที่ยวไทย 2565” และ “Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters” เพื่อส่งสัญญาณให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ

โดย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ฉายภาพสิ่งที่ททท.ต้องดำเนินการในปีนี้ว่า ได้ตั้งเป้าให้เกิด Greatest Change ด้วย Soft Power of Thailand ตามแนวทาง 5F : 4M คือ Food, Film, Fashion, Festival, Fight, Music, Museum, Master และ Meta เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง นำอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและดิจิทัล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยใช้หลัก Inclusive Tourism เจาะกลุ่มเป้าหมายคุณภาพและนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เต็มใจจ่ายเพื่อตอบสนองคุณค่าของประสบการณ์ แสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“ทั้งนี้ ททท.ได้วางสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศมากขึ้น และเน้นตลาดคุณภาพจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามแผนเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าทั้งหมด มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างรายได้รวม 1.28 ล้านล้านบาท”

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket/